การเรียนต่อในต่างประเทศ เป็นอีกหนึ่งความฝันที่นักเรียนหลายต่อหลายคน อยากจะเดินทางไปสัมผัสประสบการณ์นั้นสักครั้งให้จงได้ วันนี้เรามาดูกันดีกว่าว่า การเรียนต่อในต่างประเทศ มีความแตกต่างกับในโรงเรียนไทยอย่างไร และดีอย่างที่หลายๆคนคิดไว้รึเปล่า
ความแตกต่างของการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษา ระหว่างประเทศไทยกับอเมริกา
ประเทศไทยเรียน ม. ปลาย 3 ปี , อเมริกาเรียน 4 ปี
อเมริกาจะมีการแบ่งชั้นเรียน ดังนี้ Freshman, Sophomore, Junior และ Senior โดยก่อนหน้านี้ ก็จะเป็น Elementary School ประถมศึกษา และ Middle School มัธยมต้น ไม่เหมือนกับที่ไทยซึ่งมีแค่ ม.4-6 เท่านั้น
ไทยเลือกสายการเรียน , อเมริกาเลือกวิชาเรียน
อเมริกาให้เด็กเลือกวิชาเรียนเองตั้งแต่เกรด 9 หรือตั้งแต่ ม.3 เป็นการเลือกรายวิชาไม่ได้เลือกเป็นสายวิชา โรงเรียนจะมีรายชื่อวิชาที่ต้องเลือกเรียนก่อนจบมาให้ เช่น ต้องเรียนภาษาอังกฤษ 2 ปี , คณิตศาสตร์ 2 ปี , เป็นต้น โดยนักเรียนมีหน้าที่ลงเรียนวิชาเหล่านี้ด้วยตัวเอง สามารถจัดเวลาได้ตามต้องการ เนื่องจากโรงเรียนไม่ได้กำหนดตารางเรียนมาให้
อเมริกามีวิชาเลือกเยอะกว่าไทย
อเมริกามีวิชาให้เลือกเรียนเยอะมาก ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เช่น เทอมคุณลงเรียน 5 วิชา คุณก็อาจเลือกเรียนวิชาเคมี ซึ่งเป็นวิชาวิทยาศาสตร์ , วิชาถ่ายภาพ ซึ่งเป็นวิชาศิลปะ , วิชาประสานเสียง , ปรัชญา , และจบด้วยวรรณกรรมอังกฤษ ซึ่งเป็นวิชาทางมนุษย์ศาสตร์ เป็นการลงเรียนให้เกิดความหลากหลาย ไม่น่าเบื่อ สามารถเรียนพร้อมกันได้ในหนึ่งเทอม แต่ที่ไทยไม่อาจเลือกแบบนี้ได้ นอกจากนี้ความพิเศษอีกอย่าง คือ ยังมีวิชา Workshop ต่างๆด้วย เช่น ถ้าคุณเลือกวิชางานไม้ คุณก็จะได้เรียนรู้วิธีทำเก้าอี้ , โต๊ะ หรือกล่องไม้ใส่ของเล็ก ๆ เมื่อเรียนและลงมือทำจนสำเร็จ ก็สามารถนำของชิ้นนั้นกลับบ้านได้เลย เป็นของซึ่งช่วยสร้างความภูมิใจได้มาก
บุคลากรผู้ทำการสอนมีความสามารถที่หลากหลายกว่า
การที่อเมริกาสามารถเปิดวิชาเรียนได้มากมาย เป็นเพราะในโรงเรียนเองก็มีอาจารย์หลากหลายประเภท ไม่ใช่มีแค่อาจารย์จบเอกภาษาอังกฤษ จบเอกไทย หรือจบเอกวิชาพื้นฐานเท่านั้น เนื่องจากอาจารย์ที่อเมริกาต้องเรียนจบในสาขาอื่น ๆ มาก่อน แล้วจึงค่อยมาเป็นอาจารย์ High School ภายหลัง ทำให้นักเรียนได้เรียนรู้วิชาจากอาจารย์ที่หลากหลาย
มีวิชาระดับสูงให้เลือกเรียน
อเมริกามีวิชาระดับสูงให้นักเรียนได้เลือกเรียนด้วย โดยวิชาเหล่านี้มีความแตกต่างจากวิชาทั่วไปมาก เช่น วิทยาศาสตร์พื้นฐาน , อังกฤษพื้นฐาน โดยวิชาระดับสูง หรือ AP เป็นวิชาที่นักเรียนเอาไปเสนอตอนเข้ามหาวิทยาลัยเพื่อ Pass ชั้นได้ เนื่องจากมีระดับความยากพอ ๆ กับการเรียนในระดับมหาวิทยาลัยจริง ๆ นั่นเอง